top of page

คำถามที่พบบ่อย

FAQ

Back to Menu

ตา คิ้ว หน้าผาก (Eye, Brow & Forehead)

Q : ชั้นตาหายภายหลังจากผ่าตัดทำตาสองชั้นเกิดได้อย่างไร และมีวิธีแก้ไขหรือไม่?

A : ส่วนมากเกิดจากการเย็บชั้นตาไว้ตื้นเกินไป ทำให้ไหมที่เย็บหลุดออกจากตำแหน่งที่เย็บเพื่อให้เกิดชั้นตา การแก้ไขมักต้องเปิดแผลเข้าไปเย็บชั้นตาใหม่

 

Q : ชั้นตาใหญ่หรือเล็ก ดีกว่ากัน? 

A : โดยทั่วไปชั้นตาควรมีขนาดพอดีไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป เนื่องจากชั้นตาที่มีขนาดใหญ่เกินไปอาจจะทำให้ตาดูง่วงนอน ดูเหมือนลืมตาขึ้นไม่สุดอยู่ตลอด ส่วนชั้นตามีขนาดเล็กเกินไปอาจดูไม่ค่อยแตกต่างจากก่อนผ่าตัด ดังนั้นควรปรึกษาเรื่องขนาดชั้นตาที่ต้องการกับแพทย์ให้เข้าใจตรงกันก่อนการผ่าตัด

 

Q : ทำตาแบบเปิดหรือปิดหัวตา อย่างไหนสวยกว่ากัน

A : ในที่นี้การทำตาแบบเปิดหรือปิดหัวตา หมายถึงลักษณะของชั้นตาบริเวณหัวตาว่ามีลักษณะขนานไปกับขนตา (เปิดหัวตา) หรือสอบเข้าหาขนตา (ปิดหัวตา) ซึ่งสามารถกำหนดได้ว่าหลังผ่าตัดต้องการให้เป็นแบบใด แต่โดยทั่วไปควรให้ชั้นตาบริเวณหัวตาเป็นรูปแบบเดิมจะดูเป็นธรรมชาติที่สุด กล่าวคือหากชั้นตาเดิมมีลักษณะขนานก็ให้ทำเป็นทรงขนาน หากเดิมมีลักษณะสอบเข้าก็ให้ทำเป็นทรงสอบเข้าหาหัวตา

 

Q : หลังผ่าตัดตากี่วันถึงสามารถแต่งหน้าได้?

A : หลังจากตัดไหม (7วัน) สามารถล้างหน้าและแต่งหน้าได้ตามปกติ

 

Q : หลังผ่าตัดตานานแค่ไหนถึงสามารถทำจมูกได้?

A : การทำจมูกมีความจำเป็นที่จะต้องประเมินความสูงของสันจมูกเดิม รวมถึงความยืดหยุ่นของเนื้อจมูก ซึ่งหลังผ่าตัดตาจะทำให้บริเวณสันจมูกบวม ดังนั้นแนะนำให้รอจนสันจมูกยุบก่อนค่อยเข้ารับการผ่าตัดเสริมจมูก โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน แต่หากต้องการทำตาพร้อมกับเสริมจมูก สามารถทำพร้อมกันไปเลยได้เนื่องจากอาการบวมยังไม่มาก

 

Q : ไขมันตา จำเป็นต้องเอาออกหรือไม่?

A : ขึ้นกับลักษณะตาของแต่ละคน ในกรณีที่ตาโหลไม่ควรเอาไขมันตาออก อาจพิจารณาย้ายไขมันตาหรือเติมไขมันเพิ่มเข้าไป แต่ในกรณีที่ตาค่อนข้างโปน มีไขมันค่อนข้างเยอะ การเอาไขมันตาออกจะให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น 

 

Q : ผิวหนังใต้ตามีสีดำคลํ้า มีวิธีแก้ไขหรือไม่?

A : การฉีดไขมันตัวเอง (Lipofilling) เข้าไปบริเวณถุงใต้ตานั้น มีหลักฐานว่าสามารถช่วยให้สีผิวที่ดูคลํ้านั้นดีขึ้นโดยไขมันจะได้มาจากบริเวณหน้าท้องหรือต้นขา แล้วนำมาฉีดเข้าบริเวณที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม ผลของการรักษาอาจจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน และไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าจะดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน

 

Q : การผ่าตัดตาล่าง แผลผ่าตัดภายนอกใต้ขนตา (Subciliary) กับภายในเยื่อบุตา (Transconjunctiva) มีความแตกต่างกันอย่างไร?

A : แผลผ่าตัดภายนอกใต้ขนตา (Subciliary) มักใช้กับผู้เข้ารับการผ่าตัดที่หนังตาหย่อนคล้อย มีความจำเป็นต้องตัดผิวหนังส่วนเกินออก ส่วนแผลภายในเยื่อบุตา (Transconjunctiva) มักใช้กับกลุ่มที่ผิวหนังค่อนข้างตึง ไม่ต้องมีการตัดผิวหนังออก เพียงแต่เข้าไปจัดการกับไขมันตาอย่างเดียว

 

จมูก (Nose)

Q : ซิลิโคนสำหรับเสริมจมูก เป็นแบบบิดได้หรือไม่?

A : ซิลิโคนที่ใช้ในการทำจมูก สามารถแบ่งได้หลักๆ เป็นแบบแข็งกับแบบอ่อน การใช้ซิลิโคนแบบอ่อนจะช่วยลดโอกาสการเกิดซิลิโคนทะลุ ตลอดจนสามารถขยับหรือบิดได้เล็กน้อย แต่ไม่แนะนำให้บิดหรือขยับซิลิโคนโดยไม่จำเป็น เพราะอาจทำให้โพรงที่หุ้มซิลิโคนอยู่ขยายออก นำไปสู่การเบี้ยวและเอียงของซิลิโคนได้

 

Q : หลังผ่าตัดเสริมจมูก นานแค่ไหนถึงสามารถออกกำลังกายได้?

A : หลังการผ่าตัด ร่างกายจะสร้างเยื่อบางๆมาหุ้มรอบซิลิโคนที่ใส่เข้าไป โดยทั่วไปเยื่อนี้จะเริ่มแข็งแรงหลังจากผ่านไปประมาณ 4-6 สัปดาห์ และเริ่มเข้าที่ที่ระยะเวลา 3 เดือน ดังนั้นสามารถออกกำลังเบาๆ เช่น เดิน วิ่ง เต้นแอโรบิค ได้หลังจาก 4-6 สัปดาห์ และออกกำลังกายตามปกติได้หลัง 3 เดือนเป็นต้นไป

 

Q : หลังผ่าตัดเสริมจมูก นานแค่ไหนถึงสามารถทำ ulthera/thermage หรือ facial treatment ได้?

A : หากบริเวณที่ทำไม่ใช่บริเวณจมูกหรือบริเวณใกล้เคียง สามารถทำได้หลัง 1 สัปดาห์ แต่หากเป็นบริเวณจมูกและบริเวณใกล้เคียงแนะนำให้ทำหลัง 4-6 สัปดาห์ ส่วนบริเวณที่ยังมีการบวมอยู่ต้องรอจนกว่าจะยุบบวมดี

 

Q : แผลเป็นภายหลังการเสริมจมูก มีโอกาสเป็นคีลอยด์หรือไม่?

A : โดยทั่วไปแผลเป็นคีลอยด์จะเกิดเฉพาะตำแหน่ง ได้แก่ หู,​ หน้าอก, หลัง,​ หัวไหล่ ส่วนบริเวณจมูกพบได้น้อย อย่างไรก็ดี ควรดูแลแผลผ่าตัด และตรวจติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด เพราะหากแผลเกิดการอักเสบติดเชื้อ หรือมีแผลแยก อาจทำให้เกิดแผลเป็นคีลอยด์ตามมาได้

 

Q : เคยฉีด filler ที่จมูกมา สามารถขูดออกได้หรือไม่?

A : หากเป็น filler ชนิดที่สลายได้ส่วนใหญ่จะสามารถขูดออกได้ แต่ filler บางชนิดที่ไม่สลายไปเอง เช่น  ซิลิโคนเหลว หรือ filler แบบถาวร จะกลายเป็นพังผืดยึดกับเนื่อจมูก ทำให้ไม่สามารถขูดออกได้ ต้องทำการผ่าตัดเพื่อเลาะเนื้อพังผืดออก และส่วนใหญ่ไม่สามารถตัดออกได้หมด

 

Q : สำหรับคนที่มีเนื้อจมูกน้อย สามารถทำให้จมูกโด่งขึ้นได้แค่ไหน?

A : ขึ้นกับวิธีผ่าตัด กล่าวคือ หากเป็นการเสริมจมูกแบบ close (Close rhinoplasty) ก็จะได้น้อยกว่า การเสริมจมูกแบบ open (Open rhinoplasty) เนื่องจากเนื้อจมูกจะสามารถยืดได้น้อยกว่าหากใช้เป็นซิลิโคนในแบบ close เทียบกับกระดูกอ่อนในแบบ open

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองวิธีก็ไม่สามารถบอกระดับความโด่งที่แน่นอนก่อนผ่าตัดได้ เนื่องจากการประเมินว่าเนื้อจมูกสามารถยืดได้แค่ไหน จะทำได้หลังจากที่ใส่ซิลิโคนหรือทำโครงสร้างใหม่ด้วยกระดูกอ่อนแล้วเท่านั้น

Q : เคยผ่าตัดจมูกแบบ open (Open rhinoplasty) หากต้องการแก้ไข จำเป็นต้องทำแบบเปิดอีกไหม?

A : จำเป็นต้องทำแบบเปิดอีกครั้ง เนื่องจากส่วนใหญ่การผ่าตัดจมูกแบบopen (open rhinoplasty) มีการดัดแปลงกระดูกอ่อนของจมูก หากผ่าตัดแก้ไขด้วยวิธี close (Close rhinoplasty) อาจทำให้ผิวหนัง,เนื้อเยื่อ ตลอดจนกระดูกอ่อนของจมูกได้รับความเสียหายได้

 

ริมฝีปาก แก้ม คาง (Lip, Cheek & Chin)

Q : การตัดไขมันกระพุ้งแก้ม ทำให้หน้าเรียวได้จริงหรือไม่?

A : การตัดไขมันกระพุ้งแก้มทำให้หน้าเรียวขึ้นได้ในผู้เข้ารับการผ่าตัดที่มีไขมันบริเวณกระพุ้งแก้มอยู่มาก ซึ่งไขมันบริเวณนี้แตกต่างจาก ไขมันบริเวณเหนียง ไขมันใต้ผิวหนัง ตลอดจนไขมันบริเวณโหนกแก้ม ดังนั้นผู้เข้ารับการผ่าตัดควรได้รับการประเมินโดยแพทย์ก่อนการเข้ารับการผ่าตัด

 

Q : หากกำลังจัดฟันอยู่ สามารถผ่าตัดปากกระจับหรือปากบางได้หรือไม่?

A : ควรจัดฟันให้เสร็จก่อนหรือใกล้จะเสร็จ แล้วจึงเข้ารับการผ่าตัด จะทำให้การผ่าตัดปากกระจับหรือปากบางได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับที่ต้องการมากที่สุด เพราะการจัดฟันจะมีผลให้ทรงของริมฝีปากเปลี่ยนไปได้ กล่าวคือ ฟันที่ยื่นน้อยจะทำให้ปากดูบางและเห็นเหงือกได้มากกว่าฟันที่ยื่นมาก  

 

Q : หลังผ่าตัดปากกระจับ ผ่าตัดเสริมคาง นานแค่ไหนถึงสามารถทำฟันได้?

A : ไม่มีตัวเลขที่แน่นอน แต่โดยส่วนตัวคิดว่าน่าจะประมาณ 4-6 สัปดาห์ เพื่อรอให้แผลและพังผืดเริ่มเข้าที่ก่อน

 

Q : แผลผ่าตัดแข็งเป็นไต หลังทำปากกระจับ ทำอย่างไรดี?

A : แผลอาจมีความแตกต่างกันในแต่ละคน ในกลุ่มที่แผลแข็งเป็นไต ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดที่ให้ผลชัดเจน แต่จะแนะนำให้นวดแผลผ่าตัดเองเป็นระยะเวลา 3 เดือน เนื่องจากเป็นการรักษาที่ง่าย ทำได้เอง และช่วยให้แผลนิ่มขึ้นได้ในบางราย

 

Q : เคยฉีด filler ที่คางมา สามารถขูดออกแล้วเสริมเลยได้หรือไม่?

A : เช่นเดียวกับ filler ที่จมูก หากเป็น filler ที่สลายเองได้ มักสามารถขูดออกแล้วเสริมต่อเลยได้ แต่หากเป็น filler ที่ไม่สลาย ต้องทำการตัดเนื้อพังผืดออก ซึ่งในบางครั้งหลังตัดแล้ว เนื้อเยื่อจะบวมมาก ไม่สามารถเสริมจมูกต่อเลยได้ ต้องเย็บแผลปิดก่อน แล้วพิจารณาเสริมหลังจากผ่านไปอย่างน้อย 6 เดือน หรือจนยุบบวมสนิท

 

Q : การผ่าตัดเสริมคาง แผลบริเวณผิวหนังใต้คางกับแผลในปากมีความแตกต่างกันอย่างไร? 

A :  การเปิดแผลที่ผิวหนังจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าในกรณีที่ต้องการให้คางยาวขึ้น เนื่องจากแผลผ่าตัดจะอยู่ใกล้กับตำแหน่งที่วางซิลิโคน โอกาสเกิดการอักเสบติดเชื้อน้อยเนื่องจากการดูแลรักษาแผลทำได้ง่ายกว่า แผลมีความสะอาดกว่า แต่มีข้อจำกัดคืออาจจะมีรอยแผลเป็นจางๆให้เห็นได้บริเวณใต้คาง ส่วนแผลในปากจะเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาคางถอย ต้องการให้คางพุ่งมาข้างหน้า หรือไม่ต้องการให้มีแผลเป็นภายนอก แต่โอกาสการเกิดแผลอักเสบ และซิลิโคนไหลขึ้นด้านบนมากกว่า

 

Q : ซิลิโคนขาสั้น VS ขายาว เลือกอย่างไรดี
A : ขึ้นอยู่กับฐานคางเป็นหลัก หากเป็นคนที่คางเล็ก ฐานคางแคบ จะเหมาะกับซิลิโคนขาสั้น ส่วนคนที่หน้าใหญ่ ฐานคางกว้าง จะเหมาะกับซิลิโคนแบบขายาวมากกว่า การใช้ซิลิโคนขายาวที่ส่วนฐานกว้างออกด้านข้างในคนที่คางเล็กและมีหนังบางอาจจะทำให้เห็นขอบของซิลิโคนที่ใส่ได้

ใบหน้า ลำคอ (Face & Neck)

Q : ครีมทาลดแผลเป็น จำเป็นแค่ไหน?

A : ยังไม่พบว่ามีประโยชน์อย่างชัดเจน เนื่องจากส่วนใหญ่การผ่าตัดศัลยกรรมความงาม แผลค่อนข้างที่จะดีอยู่แล้ว เมื่อเวลาผ่านไปแผลจะค่อยๆ จางลงตามธรรมชาติการหายของบาดแผล แต่ยาทาแผลเป็นมักไม่ได้ก่อให้เกิดโทษหรือผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใดๆ หากไม่มีข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่ายก็สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม  

 

Q : หลังการผ่าตัดศัลยกรรม นานแค่ไหนจึงจะกลับไปกินวิตามินบำรุงผิวได้?

A : วิตามินซี และ คอลลาเจน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่ายขณะผ่าตัดและภายหลังหลังผ่าตัด จึงแนะนำให้หยุดรับประทานก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 1 เดือน และหลังผ่าตัดประมาณ 1 เดือน

 

Q : หากเคยฉีด filler หรือร้อยไหมที่ใบหน้ามาก่อน สามารถผ่าตัดดึงหน้าได้หรือไม่?

A : สามารถทำได้ แต่ควรทราบว่าการฉีด filler หรือร้อยไหม จะทำให้เกิดพังผืดในชั้นใต้ผิวหนัง ซึ่งเป็นชั้นที่ทำการผ่าตัดดึงหน้า พังผืดจะแข็งและยืดหยุ่นน้อยทำให้สามารถดึงหน้าให้ตึงได้น้อยกว่าคนที่ไม่มีพังผืด  นอกจากนั้นพังผืดยังเป็นอุปสรรคทำให้การผ่าตัดทำได้ยากขึ้น ใช้เวลานานขึ้น​ ระยะเวลาในการยุบบวมนานขึ้น อาจมีภาวะเลือดออกใต้แผลผ่าตัดได้มากกว่า ทำให้ต้องเข้ารับการผ่าตัดซํ้าเพื่อนำเลือดออก

 

Q : ก่อนเข้ารับการผ่าตัดดึงหน้า/ดึงคอ เหตุใดจึงควรหยุดบุหรี่?

A : การสูบบุหรี่ทำให้หลอดเลือดขนาดเล็กที่ผิวหนังเสื่อมประสิทธิภาพไป หลังการผ่าตัดดึงหน้าอาจทำให้เกิดภาวะผิวหนังตาย, แผลผ่าตัดแยก, แผลติดเชื้อได้มากขึ้น ผู้เข้ารับการผ่าตัดจึงควรหยุดบุหรี่อย่างน้อย 3 เดือนก่อนเข้ารับการผ่าตัด

 

Q : แผลผ่าตัดดึงหน้า ยาวแค่ไหน?

A : ยาวจากไรผมบริเวณขมับไปจนถึงหน้าติ่งหู ในกรณีที่ดึงคอร่วมด้วย แผลจะอ้อมไปหลังใบหูและยาวลงไปตามไรผม ในบางรายอาจจะมีแผลขนาด 2-3 เซนติเมตรบริเวณใต้คางด้วย

 

Q : เหนียงใต้คอ หากไม่ผ่าตัด สามารถดูดไขมันอย่างเดียวได้ไหม?

A : ในกลุ่มที่อายุน้อยผิวหนังไม่หย่อนคล้อยอาจดูดไขมันเพียงอย่างเดียวได้ แต่ในวัยกลางคนขึ้นไป หรือมีผิวหนังหย่อนคล้อยมาก ควรได้รับการผ่าตัดดึงคอเพื่อตัดผิวหนังส่วนเกินออก และอาจพิจารณาดูดไขมันร่วมด้วยตามความเหมาะสม

 

Q : หลังผ่าตัดดึงหน้า นานแค่ไหนถึงสามารถล้างหน้าและสระผมได้?

A : หลังจากตัดไหม (7วัน) สามารถล้างหน้า สระผมและแต่งหน้าได้ตามปกติ แต่ควรใส่ที่รัดหน้าไว้อย่างน้อย 2 เดือนหลังผ่าตัด เพื่อลดอาการบวม 

 

หน้าอก (Breast)

Q : ภายหลังเสริมหน้าอก ต้องนวดบริเวณหน้าอกหรือไม่?

A : การนวดหน้าอกหลังผ่าตัด มักใช้ในกรณีที่ใส่ซิลิโคนผิวเรียบ โดยหวังผลเพื่อลดการเกิดพังผืดรัดเต้านม

 

อย่างไรก็ดียังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ชัดเจนที่บ่งชี้ว่าการนวดจะลดการเกิดพังผืดได้จริง ยังคงเป็นการแนะนำของแพทย์แต่ละคนที่อาจจะมีความเห็นแตกต่างกันถึงประโยชน์ของการนวดหน้าอกหลังผ่าตัด

 

Q : เสริมหน้าอก เลือกซิลิโคนผิวเรียบหรือผิวทรายดี?

A : ซิลิโคนผิวเรียบมีข้อดีคือ มีโอกาสคลำได้ขอบหรือรอยย่นของซิลิโคนน้อยกว่า แต่พบว่าเกิดพังผืดรัดนมได้มากกว่าเล็กน้อยหากเสริมในชั้นใต้เนื้อนม

 

ส่วนซิลิโคนผิวทรายมีข้อดีคือ พบพังผืดรัดนมได้น้อยกว่า แต่มีโอกาสคลำได้ขอบหรือรอยย่นซิลิโคนมากกว่า นอกจากนั้นยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของต่อมนํ้าเหลือง (Anaplastic Large Cell Lymphoma) ซึ่งไม่พบว่าการใช้ซิลิโคนผิวเรียบเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งชนิดนี้ โดยความเสี่ยงของมะเร็งนั้นจะขึ้นกับความละเอียดของพื้นผิวทราย ซิลิโคนที่มีความละเอียดน้อยจะมีโอกาสพบการเกิดมะเร็งได้มากกว่าแบบละเอียดมาก
 

Q : เสริมหน้าอก ใส่ซิลิโคนชั้นไหนดี?

ชั้นของการใส่ซิลิโคน มี 3 แบบ มีข้อดีและข้อจำกัดต่างกันไป ดังนี้

  • ใต้เนื้อนม(Subglandular) ทำได้ง่าย ทรงจะดูเป็นธรรมชาติ แต่มีโอกาสเกิดพังผืดรัดนมได้มากกว่าวิธีอื่นๆ และวิธีนี้ไม่เหมาะสำหรับในผู้มีรูปร่างผอมเพราะอาจคลำได้ขอบหรือรอยย่นของซิลิโคนทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติ

  • ระหว่างชั้นกล้ามเนื้อกับเนื้อนม(Subfascial) ทำได้ง่าย ใช้ระยะเวลาพักฟื้นน้อย ทรงจะดูเป็นธรรมชาติ โอกาสการเกิดพังผืดรัดนมน้อยเท่าๆกับการใส่ใต้ชั้นกล้ามเนื้อ แต่การใส่ซิลิโคนแบบนี้ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ค่อนข้างผอมเพราะอาจคลำได้ขอบหรือรอยย่นของซิลิโคน

  • ใต้ชั้นกล้ามเนื้อ(Dual plane) เป็นวิธีใส่ซิลิโคนที่ทำได้ไม่ว่าจะมีเนื้อนมมากหรือน้อย โอกาสการเกิดพังผืดรัดนมน้อย แต่หลังผ่าตัดอาจมีอาการปวดมากกว่าและมีเลือดออกมากกว่าวิธีอื่น นอกจากนั้นระยะเวลาที่หน้าอกเข้าที่ก็จะนานกว่าวิธีอื่น

 

Q : พังผืดรัดนม (Capsular contracture) จำเป็นต้องผ่าตัดแก้ไขหรือไม่?

A : พังผืดรัดนมมีระดับความรุนแรงแบ่งเป็น 4 ระดับ ดังนี้

1 ไม่มีอาการ 

2 คลำได้เต้านมแข็งเล็กน้อย 

3 คลำได้เต้านมแข็งปานกลางอาจร่วมกับมีอาการเจ็บหรือปวดที่เต้านม อาจมีการผิดรูปเล็กน้อย

4 เต้านมแข็งมาก เจ็บและเต้านมมีการผิดรูปชัดเจน

 

ส่วนใหญ่มักพิจารณาผ่าตัดในผู้ป่วยระดับ 3-4

 

Q : หลังผ่าตัดเสริมหน้าอก สามารถให้นมบุตรได้ไหม?

A : สามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ

 

Q : หลังผ่าตัดเสริมหน้าอก สามารถตรวจเช็คมะเร็งเต้านมได้ตามปกติหรือไม่?

A : สามารถตรวจเช็คมะเร็งเต้านมได้ตามปกติ ทั้งการทำ mammography และ ultrasound

 

Q : เคยผ่าตัดเสริมหน้าอก แต่กังวลเกี่ยวกับมะเร็งของต่อมนํ้าเหลือง (Anaplastic Large Cell Lymphoma) ควรทำอย่างไรดี?

A : มะเร็งของต่อมนํ้าเหลืองจากการเสริมหน้าอกยังถือว่าพบได้น้อยมาก หากยังไม่มีอาการผิดปกติที่สงสัยโรคนี้ สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศยังไม่มีคำแนะนำให้ผ่าตัดเอาซิลิโคนออก

 

หากต้องการผ่าตัดเอาซิลิโคนออกหรือเปลี่ยนชนิดซิลิโคนสามารถทำได้ และควรปรึกษาแพทย์ถึงรายละเอียดการผ่าตัด ผลดีผลเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ก่อนตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัด
 

Q : หลังผ่าตัดกระชับ/ลดขนาดหน้าอก สามารถให้นมบุตรได้หรือไม่?

A : ควรผ่าตัดหลังจากไม่จำเป็นต้องให้นมบุตรอีก เนื่องจากผลของการผ่าตัดต่อปริมาณน้ำนมค่อนข้างหลากหลายคาดเดาได้ยาก ตั้งแต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง นํ้านมมีปริมาณน้อยลง ไปจนถึงไม่มีนํ้านมเลย 

 

Q : ในการผ่าตัดกระชับหน้าอก ลักษณะของการลงแผลมีความแตกต่างกันอย่างไร

A : แผลรอบปานนม (Periareolar) เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับหน้าอกที่หย่อนไม่มาก

     แผลรูปอมยิ้ม (Vertical/Lollipop) เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับหน้าอกที่หย่อนปานกลาง

     แผลรูปสมอ (Inverted T/Anchor) เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับหน้าอกที่หย่อนคล้อยมาก

 

ลำตัว (Body)


Q : การดูดไขมัน สามารถทำซํ้าที่ตำแหน่งเดิมได้หรือไม่?

A : สามารถทำได้ หากประเมินแล้วว่ามีไขมันกลับมาใหม่
 

Q : หากไม่ต้องการผ่าตัดไขมันบริเวณหน้าท้อง สามารถใช้วิธีดูดไขมันเพียงอย่างเดียวได้หรือไม่?

A : ในรายที่มีไขมันส่วนเกินมากแต่ผิวหนังหน้าท้องไม่หย่อนคล้อยสามารถใช้วิธีดูดไขมันเพียงอย่างเดียวได้ แต่ในรายที่มีผิวหนังหย่อนคล้อยร่วมด้วย ควรทำการตัดหนังหน้าท้องร่วมกับการดูดไขมันหากมีไขมันส่วนเกิน

FAQ Eye Brow Forehead
FAQ Nose
FAQ Lip Cheek Chin
FAQ Face Neck
FAQ Breast
FAQ Body
bottom of page