top of page
Girl%20in%20a%20Sky%20Pool_edited.jpg

เสริมหน้าอก

Breast Augmentation

การผ่าตัดเสริมหน้าอก มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขนาดหน้าอก ข้อมูลสำคัญที่ควรทราบก่อนเข้ารับการผ่าตัดเสริมหน้าอกมีดังนี้

 

1. แผลผ่าตัด มี 3 แบบ ได้แก่ แผลรักแร้ ปานนม และใต้ราวนม 

  • แผลรักแร้ มีข้อดีคือไม่มีแผลที่เต้านม แต่การเลาะโพรงและใส่ซิลิโคนอาจทำได้ยากกว่าวิธีอื่น ในปัจจุบันการผ่าตัดผ่านรักแร้โดยใช้กล้องจะทำให้การเลาะโพรงและใส่ซิลิโคนทำได้ง่ายขึ้น ให้ผลลัพธ์ดีกว่าการผ่าตัดแบบไม่ใช้กล้อง

  • แผลปานนม มีข้อดีที่แผลเป็นจะซ่อนอยู่รอบปานนม แต่มีข้อจำกัด คือ ไม่สามารถใส่ซิลิโคนที่ขนาดค่อนข้างใหญ่ได้  และในบางการศึกษายังพบว่ามีโอกาสเกิดพังผืดรัดนม(Capsular contracture) ในอนาคตได้มากกว่าวิธีอื่น  

  • แผลใต้ราวนม เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถเลาะโพรงและใส่ซิลิโคนได้ง่าย หากมีเลือดออกระหว่างทำผ่าตัดก็สามารถหยุดเลือดได้อย่างรวดเร็ว แต่มีข้อจำกัดเพียงอย่างเดียวคือจะมีรอยแผลบริเวณใต้ราวนม

2. ชั้นของการใส่ซิลิโคน มี 3 แบบ ได้แก่ 

  • ใต้เนื้อนม (Subglandular) มีข้อดีคือทำได้ง่าย เต้านมที่เสริม ทรงจะดูเป็นธรรมชาติ แต่มีโอกาสเกิดพังผืดรัดนม (Capsular contracture) ได้มากกว่าวิธีอื่นๆ และวิธีนี้ไม่เหมาะสำหรับในผู้มีรูปร่างผอมเพราะอาจคลำได้ขอบหรือรอยย่นของซิลิโคน (Rippling) ทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติ

  • ระหว่างชั้นกล้ามเนื้อกับเนื้อนม (Subfascial) มีข้อดีคือทำได้ง่าย ใช้ระยะเวลาพักฟื้นน้อย เต้านมที่เสริมทรงจะดูเป็นธรรมชาติ โอกาสการเกิดพังผืดรัดนมน้อย ไม่ต่างจากการใส่ชั้นใต้กล้ามเนื้อ แต่การใส่ซิลิโคนแบบนี้ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ค่อนข้างผอมเพราะอาจคลำได้ขอบหรือรอยย่นของซิลิโคน (Rippling) 

  • ใต้ชั้นกล้ามเนื้อ (Dual plane) เป็นวิธีใส่ซิลิโคนที่ทำได้ไม่ว่าจะมีเนื้อนมมากหรือน้อย โอกาสการเกิดพังผืดรัดนมน้อย แต่มีข้อเสียคือ หลังผ่าตัดอาจมีอาการปวดมากกว่าและมีเลือดออกมากกว่าวิธีอื่น นอกจากนั้นระยะเวลาที่หน้าอกเข้าที่ก็จะนานกว่าวิธีอื่น ในผู้ป่วยที่นิยมออกกำลังกายมีกล้ามเนื้อหน้าอกที่แข็งแรงนั้น อาจทำให้เห็นซิลิโคนขยับไปมาตามกล้ามเนื้อได้ (Animated breast)

3. รูปทรงซิลิโคนแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ทรงกลมและทรงหยดนํ้า 

  • ทรงกลม คือซิลิโคนที่มีรูปร่างกลม เหมาะสำหรับผู้ที่มีเนินอกน้อยหรือต้องการมีเนินอกที่เห็นชัดเจนหลังเสริมหน้าอก

  • ทรงหยดนํ้า ครึ่งบนของซิลิโคนจะมีรูปร่างที่แบนราบกว่าทรงกลม เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการมีเนินอกมากอยากให้ทรงหน้าอกเป็นไปตามธรรมชาติ

จากศึกษาโดยการติดตามผู้เข้ารับการผ่าตัดเสริมหน้าอกที่ใช้ซิลิโคนทั้งสองชนิด ไม่พบว่ามีความแตกต่างของรูปทรงหน้าอกอย่างมีนัยสำคัญ แต่พบว่าการใช้ซิลิโคนทรงหยดนํ้าอาจพบมีการหมุนของซิลิโคนทำให้หน้าอกเสียรูปทรงได้  ซึ่งในปัจจุบันมีซิลิโคนทรงหยดน้ำบางยี่ห้อสามารถแก้ปัญหาเรื่องการหมุนของซิลิโคนได้โดยทำให้ซิลิโคนสามารถปรับรูปร่างได้ตามแรงโน้มถ่วง

4. ความสูงของซิลิโคนแบ่งได้เป็น สูงน้อย ปานกลาง สูงมาก และสูงมากที่สุด โดยการเลือกว่าจะใช้แบบไหนนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เข้ารับการผ่าตัดว่าต้องการให้หน้าอกใหญ่มากเพียงไร และปริมาณเนื้อหน้าอกของผู้เข้ารับการผ่าตัด (หากมีเนื้อหน้าอกมากกว่าก็จะสามารถใส่ซิลิโคนได้สูงมากกว่า) 

การเลือกขนาดความสูงของซิลิโคนร่วมกับการวัดความกว้างของฐานหน้าอกโดยแพทย์ จะทำให้สามารถทราบปริมาตรของซิลิโคนที่เหมาะสม ซึ่งคนบางส่วนมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับการเลือกขนาดซิลิโคน มักจะให้ความสำคัญกับปริมาตรของซิลิโคนมากเกินไป การใส่ซิลิโคนที่มีขนาดใหญ่เกินไปนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้มาก เช่น หน้าอกดูไม่เป็นธรรมชาติ หน้าอกคล้อยออกข้าง คลำได้ขอบซิลิโคน ชาบริเวณหัวนม ปวดคอและหลัง เป็นต้น

 

5. พื้นผิวของซิลิโคน แบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ ผิวเรียบ (Smooth) และผิวทราย (Texture)  

  • ซิลิโคนผิวเรียบ มีข้อดีคือ มีโอกาสคลำได้ขอบน้อยกว่า แต่มีข้อเสียคือสามารถพบว่าเกิดพังผืดรัดนมได้มากกว่าเล็กน้อยหากเสริมในชั้นใต้เนื้อนม (Subglandular)  และในระยะยาวพบว่าเกิดภาวะ bottoming out (ภาวะที่เนื้อเต้านมส่วนที่อยู่ใต้ต่อหัวนมถูกยืดออกมากเกินไปทำให้เต้านมผิดสัดส่วน หัวนมดูลอยสูง) ได้มากกว่าแบบผิวทราย

  • ซิลิโคนผิวทราย มีข้อดีคือพบพังผืดรัดนมได้น้อยกว่า แต่มีข้อเสียคือ มีโอกาสคลำได้ขอบมากกว่า อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของต่อมนํ้าเหลือง (Anaplastic Large Cell Lymphoma หรือ ALCL) โดยความเสี่ยงจะขึ้นกับความละเอียดของพื้นผิวทราย หากมีความละเอียดน้อย (Macrotexture) ก็จะมีโอกาสพบการเกิดมะเร็งได้มากกว่าแบบละเอียดมาก (Micro-Nanotexture) แต่ในการเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนผิวเรียบไม่พบว่าเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งชนิดนี้ 

6. การเติมไขมันหน้าอก คือการดูดไขมันจากบริเวณหน้าท้อง ต้นขาหรือก้นมาฉีดเข้าไปที่ชั้นใต้ผิวหนังที่ปกคลุมซิลิโคน ทำให้หน้าอกดูเป็นธรรมชาติ ไม่เป็นก้อนหรือเห็นขอบซิลิโคน เหมาะสำหรับการเสริมซิลิโคนในชั้นใต้เนื้อนม (Subglandular) หรือระหว่างชั้นกล้ามเนื้อกับเนื้อนม (Subfascial)  คนที่มีเนื้อหน้าอกน้อย หรือต้องการใส่ซิลิโคนทรงสูงมาก  

 

จากข้อมูลเบื้องต้น จะเห็นได้ว่าการเสริมหน้าอกมีปัจจัยมากมายที่ต้องคำนึงถึงเพื่อให้การผ่าตัดได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และเกิดปัญหาตามมาให้น้อยที่สุด ดังนั้นผู้ที่ต้องการผ่าตัดเสริมหน้าอกจำเป็นต้องไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อพูดคุย ซักถามให้เข้าใจก่อนตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัด

ผู้ที่เหมาะกับการผ่าตัด 

ผู้ที่ต้องการเพิ่มขนาดหน้าอก

 

รายละเอียดการผ่าตัด

เมื่อดมยาสลบเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะทำการลงแผล จากนั้นจึงผ่าตัดเลาะโพรงสำหรับใส่ซิลิโคน  หยุดเลือดให้สนิท ทำการใส่ซิลิโคน ใส่สายระบายและทำการเย็บแผลให้เรียบร้อย

 

การดูแลรักษาหลังผ่าตัด

  1. เช็ดทำความสะอาดแผลทุกวัน ห้ามแผลโดนนํ้าจนถึงวันตัดไหม

  2. ใส่สายระบายเลือดไว้ 1-2 วัน

  3. ใส่ที่รัดหน้าอกหรือ sport bra หลังเอาสายระบายเลือดออก และใส่ต่อเนื่องจนครบ 2 เดือน

  4. ตัดไหม 7 วัน หลังตัดไหมสามารถโดนนํ้าได้

  5. หน้าอกจะค่อยๆ เข้าที่ภายในระยะเวลา 6 เดือน

  6. แผลอาจเห็นได้ชัดในช่วง 3 เดือนแรก หลังจากนั้นจะค่อยๆ จางไปภายใน 1 ปี

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้

  • มีเลือดออกบริเวณใต้แผลผ่าตัด หากมีปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขเพื่อหยุดเลือด

  • แผลเป็น ในผู้เข้ารับการผ่าตัดบางกลุ่มอาจพบแผลเป็นนูนได้ สามารถแก้ไขด้วยการฉีดสเตียรอยด์ที่บริเวณแผลเป็นนูน

  • หัวนมชา โดยส่วนใหญ่จะค่อยๆ ดีขึ้นภายในระยะเวลา 1 ปี มีส่วนน้อยประมาณ 15% ที่อาจจะสูญเสียความรู้สึกบริเวณหัวนมถาวร

  • การคลำได้ขอบหรือรอยย่นของซิลิโคน (Rippling) มักพบในกลุ่มที่ใช้ซิลิโคนผิวทรายและซิลิโคนขนาดใหญ่เกินไป หากต้องการแก้ไขต้องผ่าตัดลดขนาดของซิลิโคนลง, เปลี่ยนโพรงให้ลึกขึ้น และเปลี่ยนเป็นซิลิโคนผิวเรียบจะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง

  • ผิวซิลิโคนรั่ว/ปริแตก ในซิลิโคนรุ่นใหม่ๆ พบอัตราการเกิดปัญหานี้น้อยมาก ประมาณ 1% ต่อปี

  • พังผืดรัดนม (Capsular contracture) มีหลายระดับ หากเป็นในระดับที่รุนแรงอาจมีอาการปวด หรือมีเต้านมผิดรูปได้ พิจารณาพบแพทย์เพื่อผ่าตัดแก้ไข

  • มะเร็งของต่อมนํ้าเหลือง (ALCL) จากการศึกษาพบว่ามักเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดหลายปี ผู้เข้ารับการผ่าตัดมักจะมาด้วยเต้านมบวมนํ้าหรือคลำได้ก้อนที่เต้านม การรักษาได้แก่การผ่าตัดเอาซิลิโคนและถุงหุ้มซิลิโคนออก ในบางรายอาจต้องได้รับการฉายแสงและให้ยาเคมีบำบัด

bottom of page